HyperX DuoCast ไมโครโฟนสายเกมมิ่ง เสียงใส ปรับได้ 2 โหมด แสงไฟ RGB

HyperX DuoCast ไมโครโฟนสายเกมมิ่ง เสียงใส ปรับได้ 2 โหมด แสงไฟ RGB

HyperX DuoCast เชื่อว่าอาชีพแคสเตอร์ เกมเมอร์ และสตรีมเมอร์ ยังคงเป็นอาชีพหลักๆ ที่ยังคงสร้างรายได้และได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน และสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ในการทำงานเหล่านี้ นอกเหนือจากคอมสเปคดีๆ หูฟังเกมมิ่ง จอขนาดใหญ่ เพื่อมาช่วยเสริมในการทำงานแล้ว ไมโครโฟน เป็นอีกสิ่งหนึ่้งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะมีบทบาทตั้งแต่การสตรีมมิ่ง ถ่ายทอดเสียง และการบันทึกเสียง รวมถึงการพากษ์เสียง ให้ผู้ฟังได้รับอรรถรสอย่างเต็มที่ วันนี้เรามีโอกาสได้ทดสอบไมโครโฟน จากค่ายเกมมิ่งรายใหญ่อย่าง HyperX รุ่นที่เพิ่งออกใหม่ล่าสุดมาได้ใช้งานกัน ในรุ่น DUOCAST ที่มีจุดเด่นในเรื่องของการรับเสียงได้ 2 รูปแบบ และมีแสงไฟ RGB พร้อมปรับแต่งผ่านซอฟต์แวร์ได้อีกด้วย ลองมาชมกันครับว่า เหมาะกับผู้ใช้แบบใดกันบ้าง

Specification

  • Connector USB-C, Headphone
  • Tap-to-mute sensor
  • Two polar patterns Cardioid, Omnidirectional
  • Support NGENUITY software
  • RGB lighting
  • Hi-Res 24-bit/96kHz
  • Low-profile shock mount
  • Internal pop filter

ข้อมูลเพิ่มเติม: HyperX DuoCast


Design

สำหรับแพ๊คเกจของไมโครโฟน HyperX DuoCast มาในโทนสีขาว-แดง ดูสดใส ตามสไตล์ของค่ายนี้ ด้านหน้ามีภาพกราฟิกของไมโครโฟนมาอย่างชัดเจน พร้อมรายละเอียดฟีเจอร์ ไม่ว่าจะเป็น Shock Mount ในแบบ Low profile หรือเป็น Tap sensor ในการเปิด-ปิดไมค์ รวมถึง 2 ปพทเทิร์นเสียงในตัว และมีไฟ RGB รองรับซอฟต์แวร์ NGENUITY อีกด้วย

และจุดที่ชัดเจนเลยคือ Customize หรือปรับแต่งแสงไฟ RGB บนตัวไมค์ได้อีกด้วย พร้อมการรับประกันถึง 2 ปี

ด้านข้างใส่รายละเอียดฟังก์ชั่นบางอย่างมาด้วย เช่น แพทเทิร์นเสียง ที่มีทั้ง Cardioid และ Omnidirectional

ด้านหลังกล่องก็บอกถึงสเปคและอุปกรณ์ที่มีให้ในแพ๊คเกจ ไม่ว่าจะเป็นสาย USB-A to  USB-C และ Mount Adaptor

ส่วนด้านข้างนี้ บอกรายละเอียดของบรรดาซอฟต์แวร์ที่รองรับ รวมถึง Certified ต่างๆ เช่น TEAMSPEAK, DISCORD, SKYPE เป็นต้น

แกะกล่องชมด้านใน เรียกว่า HyperX ยังคงแพ๊คมาให้เป็นอย่างดี มีทั้งกล่องนอกที่แข็งแรง ด้านในเป็นพลาสติกกันกระแทกอีกชั้นหนึ่ง เซฟระหว่างการขนส่งได้ดีทีเดียว

ในกล่อง นอกจากจะมีตัวอุปกรณ์ DuoCast มาด้วยแล้ว ยังมีคู่มือจัดเตรียมเอาไว้ให้ บอกเลยว่ามือใหม่ก็ยังใช้งานได้ไม่ยาก

จากที่ดูรายละเอียดของคู่มือที่มีให้นี้ ต้องถือว่า HyperX เตรียมมาไว้ดีมาก เพราะค่อนข้างละเอียด แต่ก็ดูง่าย

รายละเอียดสัญลักษณ์ การปรับแต่ง และการเชื่อมต่อ ถูกรวมเอาไว้ในคู่มือนี้แล้ว หากคุณไม่มั่นใจหรืออยากจะหาข้อมูลให้ใช้งานได้เต็มที่มากขึ้น สามารถดูได้จากส่วนนี้ครับ

อุปกรณ์ที่มีมาให้ในกล่องเพิ่มเติม เป็นอแดปเตอร์แปลงจากขาไมโครโฟน มาใส่กับอาร์มที่ยึดกับโต๊ะได้ทันที เพื่อความสะดวกของเหล่าสตรีมเมอร์และเกมแคสเตอร์ ไม่ต้องวางบนโต๊ะ

สายสัญญาณ USB-A to USB-C โดยต่อจากโน๊ตบุ๊ตหรือพีซีในแบบ Type-A และต่อที่ไมโครโฟนเป็นแบบ USB-C

รูปลักษณ์ที่ดูเรียบง่าย ความสูงตั้งแต่ตัวฐาน จนถึงเซ็นเซอร์ด้านบนอยู่ที่ประมาณ 20cm ความกว้างของไมค์ราวๆ 6cm เท่านั้น ซึ่งมิติจะเล็กกว่า QuadCast อยู่เล็กน้อย จึงดูกระทัดรัด น้ำหนักเบา เหมาะกับการติดตั้งในจุดต่างๆ หรือวางข้างหน้าผู้ใช้ได้แบบไม่เกะกะมากนัก

 

 

 

 

 

 

ตัวขาตั้งถือเป็นจุดสำคัญในการสร้างสมดุลให้กับไมโครโฟน โดยเป็นวัสดุพลาสติกแข็ง และเป็นฐานเดี่ยว พร้อมชุดปรับองศาให้กับการใช้งานในโอกาสต่างๆ

ฐานเป็นแบบวงกลม และขาตั้งที่สูงขึ้นมาประมาณ 8.5cm พร้อมตัวล็อค ปรับมุมองศาได้

 

 

 

 

 

 

 

ด้านบนจะเป็นฟังก์ชั่น Tap to mute ซึ่งจะเป็นเซ็นเซอร์ในการเปิด-ปิดเสียง ขณะที่หยุดพักเบรคในช่วงบรอดแคสหรือปิดไมค์ชั่วขณะ ซึ่งจะเป็นเหมือนการ Mute บนพีซี แต่ใช้ง่ายกว่าเยอะเลย ไม่ต้องไปยุ่งกับเมนบอร์ด และเมื่อแตะปิดแล้ว แสงไฟ RGB Ring บนตัวไมค์ ก็จะปิดไปด้วย

ตรงกลางตัวไมโครโฟนจะเป็น RGB Ring ที่เป็นแสงไฟ ปรับแต่งได้บนซอฟต์แวร์

สามารถปรับมุมของไมค์ในแบบที่คุณต้องการได้ ตามสรีระและการนั่งของคุณ โดยจะปรับให้เอียงได้พอสมควร

ข้อต่อที่เป็นจุดหมุน ในการปรับองศาไมโครโฟน แค่หมุนคลายออก เมื่อได้มุมที่ต้องการแล้ว ก็หมุนให้แน่นอีกครั้ง

สายยึดที่เป็นแบบที่ยืดหยุ่นได้ เป็นจุดรั้งไม่ให้ตัวไมค์เกิดการกระแทก ไม่ว่าจะเป็นการวางบนโต๊ะคอม หรือการแขวนก็ตาม จึงลดเสียงรบกวนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการบรอดแคสได้ดี แต่เป็นแบบชุดเดียว จะต่างจาก QuadCast ที่เป็นแบบ 2 ชั้นและเป็นสีแดง

ชุดปรับจูน หรือ Gain control knob ที่ติดตั้งอยู่ด้านข้างไมโครโฟน สำหรับการปรับรูปแบบของเสียง ให้เป็น Cardioid หรือ Omnidirection และเมื่อหมุนแล้ว แสงไฟจะปรับเลื่อนตามไปด้วย เพื่อให้สังเกตได้ง่ายว่า อยู่ในรูปแบบเสียงใด

โลโก้ HyperX บริเวณด้านหน้า ออกแบบมาอย่างเรียบง่าย สีขาวบนพื้นสีดำ

ด้านใต้ไมโครโฟนเป็นฟีตยางจำนวน 4 ชิ้น เป็นแบบวงกลม ยึดตัวไมค์เข้ากับพื้นโต๊ะได้ดีพอสมควร หากเป็นพื้นโต๊ะทั่วไป แนะนำให้ยกแล้ววางในตำแหน่งที่ต้องการจะดีกว่า เพราะเลื่อนได้ยาก

สายสัญญาณที่ให้มาเป็นแบบ USB Type-A to USB-C เป็นแบบหุ้มยาง ไม่ได้เป็นแบบถักเหมือนกับ HyperX QuadCast ความยาวราวๆ 1.80m

ด้านหลังจะเป็นช่องต่อ USB-C และแจ๊ค 3.5mm สำหรับหูฟัง เรียกว่าสะดวกดี ไม่ต้องเอื้อมสายไปต่อในจุดอื่น ยกเว้นว่าคุณจะใช้หูฟังแบบไร้สาย

HyperX DuoCast ยังมีลูกเล่นในการลอดสายสัญญาณต่อจากช่องด้านหลัง เพื่อเข้าสู่ไมโครโฟน เพื่อความเรียบร้อยของสายสัญญาณ

และเมื่อติดตั้งพร้อมใช้งาน ก็สามารถให้คุณประชุมออนไลน์ สนทนาร่วมกับเพื่อน แคสเกม และใช้งานบันทึกเสียงได้แล้ว

สเปคในเบื้องต้น HyperX DuoCast รองรับความถี่เสียงในระดับ 24-bit/96kHz ซึ่งถือว่าไมโครโฟนที่สามารถเก็บรายละเอียดเสียงได้ดี โดยเฉพาะในกลุ่มของแคสเตอร์ หรือคนทำบรอดแคส และคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับเสียง เช่น Podcast เป็นต้น

หากเป็นการใช้งานเช่นแคสเกม หรือการประชุม โหมด Cardioid ที่รับเสียงจากด้านหน้าเป็นหลัก ให้เสียงได้ชัด โดยเฉพาะเสียงรบกวนจากด้านหลัง เช่นพัดลม และเสียงที่ดังออกมาจากตัวเคส แทบจะไม่มีการรบกวนมาด้วยเลย และยังเก็บรายละเอียด การอ่าน เสียง และโทนเสียงได้ดี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

และนอกจากนี้ฟิลเตอร์ที่อยู่ด้านในไมค์ ยังกรองเรื่องของเสียงรบกวน และลมหายใจได้ดีในระดับหนึ่ง ไม่เกิดเสียงในระหว่างการใช้งานมากนัก จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับสายที่ต้องบันทึกเสียง ทำเพลง อ่านบทความ หรือจะเป็นการบันทึกการประชุม ที่จะไม่เกิดการรบกวน

ส่วนถ้าเป็นการต้องใช้เสียงพร้อมกันหลายคน ก็สามารถปรับเป็นโหมด Omnidirection ที่สามารถรับเสียงได้รอบทิศทาง เหมาะกับการแคสสตรีม หรือสายกีฬา อีสปอร์ต ที่นั่งรวมกัน วิเคราะห์การเล่น หรือเป็นแนวไลฟ์สด และเล่าเรื่องหลายคนพร้อมกัน จุดสำคัญคือ เก็บรายละเอียดเสียงได้ดีพอสมควร เทียบกับ QuadCast ได้อย่างน่าสนใจ อีกทั้งความลึกของเสียง การปรับโทนในการเล่าเรื่อง ก็ยังให้ความรู้สึกได้อย่างสมจริงอีกด้วย

ผังของโหมดในการปรับแต่งเสียงที่เป็น Cardioid และ Omnidirection ที่ผู้ใช้สามารถเลือกปรับจูนได้จากตัวไมโครโฟน

นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องของซอฟต์แวร์อย่าง HyperX NGENUITY ให้ดาวน์โหลดมาใช้ในการปรับแต่ง HyperX DuoCast นี้ได้อีกด้วย

เมื่อดาวน์โหลดโปรแกรมมาติดตั้งแล้ว ระบบจะทำการตรวจสอบบรรดาอุปกรณ์ที่ต่อพ่วงที่รองรับการใช้งานบนซอฟต์แวร์นี้ และ HyperX DuoCast ก็ปรากฏอยู่ในระบบอีกด้วย ฟังก์ชั่นหลักๆ ในการใช้งานจะมี 2 ส่วนด้วยกันคือ Audio และ Light การใช้งานก็ตามหัวข้อเลย เช่น Audio จะมีให้ปรับทั้ง Mic Gain ที่คุณใช้ซอฟต์แวร์นี้ในการปรับได้ นอกเหนือจากบนไมโครโฟน รวมถึงเสียงขาออก ที่เป็น Output และ Filter รวมไปถึง Polar Pattern ที่เลือกปรับได้สะดวกทีเดียว

และในหัวข้อ Light จะให้คุณปรับแสงสีบน RGB Ring ที่อยู่บนไมโครโฟนได้ เพิ่มเอฟเฟกต์แสงไฟ เลือกความเข้มของแสง แบบสีที่ต้องการ และความเร็วในการเกิดเอฟเฟกต์แสง เรียกว่าปรับได้สนุก

โหมดหรือ Profile ที่ให้มามีด้วยกันถึง 6 รูปแบบ สามารถลองปรับใช้ได้ตามต้องการ

แต่ที่เด็ดสุดก็คือ หากคุณใช้เกมมิ่งเกียร์ ไม่ว่าจะเป็น คีย์บอร์ด เมาส์ หูฟัง และอื่นๆ ที่รองรับ HyperX NGENUITY และมีแสงไฟ RGB ในตัว คุณจะสามารถซิงก์แสงไฟ ด้วยการใช้โหมด Light Sync เพื่อให้แสงไฟ RGB ในจุดต่างๆ สามารถทำงานได้สอดคล้องกัน และเก็บเป็นโพรไฟล์ได้อีกด้วย ใครที่ชื่นชอบสไตล์แสงไฟแบบนี้ ก็แนะนำให้เลือกใช้อุปกรณ์ที่รองรับแบบเดียวกันครับ

ตัวอย่างที่เราซิงก์แสงไฟด้วยโหมด Light Sync เรียกว่าสวยงามลงตัว ขาดแต่หูฟังที่จะนำมาต่อให้แบบครบชุด

เรื่องการใช้งานค่อนข้างสะดวก และง่าย การจัดวางก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะใช้พื้นที่ไม่มาก หรือจะใช้ขาแบบแขวนมาติดตั้งก็มีตัวแปลงมาให้ใช้

 

ในแง่ของการใช้งาน เรียกว่าเหมาะกับสตรีมเมอร์เริ่มต้น รวมถึงคนที่จะเริ่มกับการทำ Podcast และต้องการไมโครโฟนที่เก็บรายละเอียดเสียงได้ดี จากการทดสอบทั้งการติดตั้งบนขาตั้งไมค์ปกติ และการใช้ขาแขวน ก็ยังไม่พบกับเสียงรบกวนจากชิ้นวัสดุ หรือ Noise ที่จะมากวนใจเลย


Conclusion

หลังจากที่เราได้ใช้งาน HyperX DuoCast มาได้สักระยะหนึ่ง เราลองผลิตคอนเทนต์ในแนวของ Podcast และการบันทึกเสียงในการเล่นเกม พร้อมสตรีมไปด้วย ซึ่งเสียงที่ได้ในโหมด Cardioid ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทั้งในเรื่องของการเก็บรายละเอียดเสียง น้ำเสียง สามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้ดีทีเดียว เรียกว่าทดแทนการใช้ไมค์บนหูฟังไปได้เยอะ และยังมีเรื่องของการตัดเสียงรบกวนได้เยอะ รวมถึงเสียงโดยรอบ ที่อยู่ใกล้ๆ และด้านหลังของไมค์ ด้วยการปรับจูนที่ Gain Control ก็ทำให้ฟิลลิ่งในการเก็บเสียงทำได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Cardioid หรือ Omnidirection ก็ตาม อย่างไรก็ดี การใช้งานร่วมกันหลายคน เก็บหลายเสียง ก็จะมีเรื่องของโทนเสียงที่ทับซ้อนกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะการปรับระดับเสียงที่ไม่เท่ากัน แต่ก็จะดีขึ้น หากวางสล็อตของการพูดของแต่ละคน เรื่องความสะดวกสบาย ก็มีทั้งเซ็นเซอร์เปิด-ปิดเสียงมาให้ แค่การแตะ แต่น่าจะมีแสงบนโลโก้ไมค์ด้านบนมาด้วย จะดีกว่า ซึ่งทดแทนด้วยแสง RGB Ring ซึ่งใครที่พลาดลืมปิดไมค์บ่อยๆ น่าจะสังเกตได้ง่ายขึ้น รวมถึงสาย USB ที่ยาว และขาตั้งที่วางสมดุลได้ดีทีเดียว สนนราคาของไมโครโฟน HyperX DuoCast รุ่นนี้ออยู่ที่ประมาณ 3,290 บาท

 

0 Comments

แสดงความคิดเห็น

*ข้อความหรือข้อความที่แสดงในโฟส เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นในระบบโดยอัตโนมัติจากสมาชิก ซึ่งทีมงานไม่ได้มีส่วนหรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ หากพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานเพื่อดำเนินการต่อไป..